ประวัติโครงการฯ
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจำนวนหลายโครงการของการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับคัดเลือกไว้เมื่อ พ.ศ.2497 เพื่อเก็บกักน้ำและแพร่กระจายน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูก ซึ่งช่วยขจัดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงขาดฝนและในฤดูแล้ง รวมทั้งบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำห้วยปลาหางกับตอนล่างของลุ่มน้ำสงคราม
สภาพลำน้ำ
ลำน้ำอูน เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำสงครามมีความยาว 295 กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาภูพาน ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอกุดบากจังหวัดสกลนคร ไหลผ่านอำเภอพังโคนและอำเภอพรรณานิคม แล้วไหลลงสู่แม่น้ำสงครามในเขตอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
ที่ตั้ง
โครงการส่งน้ำและรักษาน้ำอูนตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร อยู่ห่างจากอำเภอพังโคน 12 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ 680 กิโลเมตร ทางเข้าเขื่อนน้ำอูนจะแยกจากทางหลวงสาย พังโคน วาริชภูมิที่กิโลเมตร 4.948 ไปตามถนนลาดยางประมาณ 6 กิโลเมตร
ลักษณะโครงการ
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน เป็นโครงการชลประทานประเภทเขื่อนเก็บกักน้ำสร้างปิดกั้นลำน้ำอูน ที่บ้านหนองบัว ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ประกอบด้วยงานระบบส่งน้ำ งานระบบระบายน้ำ และงานจัดรูปที่ดิน
รายละเอียดโครงการ
รายละเอียดสำคัญโดยสรุปมีดังนี้
ลักษณะทางอุทกวิทยา
พื้นที่รับน้ำฝนเหนือที่ตั้งเขื่อน 1,100 กม2
พื้นที่ผิวน้ำ 85 กม2
อ่างเก็บน้ำ
ระดับเก็บกัก +185.00 ม.(รทก)
ระดับน้ำสูงสุด +187.60 ม.(รทก)
ระดับน้ำต่ำสุด +175.00 ม.(รทก)
ระดับท้องน้ำ +162.00 ม.(รทก)
ความจุของอ่างเก็บน้ำที่ระดับน้ำเก็บกัก 520 ล้าน ม3
ความจุของอ่างเก็บน้ำที่ระดับต่ำสุด 45 ล้าน ม3
พื้นที่ผิวน้ำที่ระดับน้ำเก็บกัก 85 กม2
พื้นที่ผิวน้ำที่ระดับต่ำสุด 7 กม2
เขื่อนดิน แบบ Zone Type
เขื่อนดินสูง 29.50 ม.
สันเขื่อนยาว 3,300 ม.
สันเขื่อนกว้าง 8 ม.
ฐานเขื่อนตอนที่กว้างที่สุด 188 ม.
ระดับสันเขื่อน +190.00 ม.(รทก)
อาคารระบายน้ำล้น
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่ประมาณกึ่งกลางด้านฝั่งซ้ายของตัวเขื่อนมีลักษณะเป็นแบบ Morning Glory and Over Flow Spillway ทำหน้าที่ระบายน้ำออกมาอ่างเก็บน้ำเมื่อระดับน้ำเกินระดับเก็บกักที่ + ๑๘๕.๐๐ ม. (รทก.) โดยสามารถระบายน้ำได้สูงสุด ๓๕๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา
เป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.40 เมตร ยาว 48.40 เมตร ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของตัวเขื่อนส่งน้ำเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาด้วยอัตราสูงสุด 21.80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานประมาณ 139,603 ไร่
ประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย
เป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.50 เมตร ยาว 50.80 เมตร ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของตัวเขื่อนส่งน้ำเข้าสู่คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายด้วยอัตราสูงสุด 9.10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานจำนวน 54,490 ไร่
ระบบส่งน้ำ
ระบบส่งน้ำของโครงการประกอบด้วย คลองส่งน้ำสายใหญ่ 2 สาย คือ คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวายาว 45.70 กิโลเมตร และคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายยาว 28.04 กิโลเมตร คลองซอยและคลองแยกซอยจำนวน 79 สาย รวมความยาว 239.63 กิโลเมตร รวมความยาวของคลองส่งน้ำทั้งสิ้น 313.37 กิโลเมตร มีอาคารประกอบในคลองส่งน้ำประมาณ 1,455 แห่ง พร้อมด้วยโรงสูบน้ำไฟฟ้า 4 แห่งและระบบส่งน้ำที่นิคมน้ำอูน ซึ่งประกอบด้วยคลองส่งน้ำ 13 สาย ยาว 26.856 กิโลเมตร ส่งน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าจำนวน 4 เครื่อง สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 15,000 ไร่
ระบบระบายน้ำ
ระบบระบายน้ำ ประกอบด้วยคลองระบายน้ำที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อระบายน้ำส่วนที่เหลือใช้หรือเกินความต้องการออกจากพื้นที่เพาะปลูกในบริเวณพื้นที่ส่งน้ำของโครงการจำนวน 30 สาย รวมความยาว 183.757 กิโลเมตร และอาคารประกอบต่างๆ ในคลองระบายน้ำประมาณ 64 แห่ง
ค่าลงทุน
ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งโครงการระหว่าง พ.ศ.2510-2528 เป็นเงินประมาณ 1,700 ล้านบาท
ระยะเวลาก่อสร้าง
โครงการชลประทานน้ำอูน เป็นโครงการชลประทานตัวอย่างซึ่งมีการดำเนินกิจกรรมประเภทต่างๆครบวงจรแบ่งระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมต่างๆดังนี้
ระยะที่ 1 การก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำน้ำอูน ( พ.ศ. 2510-2516)
ระยะที่ 2 การก่อสร้างงานระบบส่งน้ำ งานระบบระบายน้ำและงานจัดรูปที่ดิน (พ.ศ.2515-2528)
ระยะที่ 3 การดำเนินงานโครงการพัฒนาชนบทแบบผสมผสานในบริเวณโครงการชลประทานน้ำอูน (พ.ศ.2530-2534 )
ประโยชน์
โครงการชลประทานน้ำอูนสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการได้ประมาณ 185,800 ไร่ ต่อมาได้ดำเนินงานพัฒนาชนบทโดยร่วมมือกับเกษตรกรในเขตโครงการในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาอาชีพของเกษตรกรโดยมุ่งในด้านการพัฒนารูปแบบธุรกิจการเกษตรระหว่างภาคเอกชนและเกษตรกรในการใช้น้ำชลประทานให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อยกมาตรฐานการครองชีพของราษฎรให้ดีขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรในเขตโครงการนับได้ว่าเป็นเกษตรกรก้าวหน้าและเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในท้องถิ่นอื่น
โครงการพัฒนาชนบทแบบผสมผสานในบริเวณโครงการชลประทานน้ำอูน
ดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2521-2528 เพื่อจัดระบบในการแพร่กระจายน้ำชลประทาน ในระดับไร่นา เพื่อเพิ่มผลผลิตจากการใช้น้ำชลประทาน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีหน่วยราชการต่างๆจาก 4 กระทรวงร่วมปฏิบัติงาน คือ กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมพัฒนาชุมชน กรมการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมประชาสงเคราะห์ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการคือ กรมปศุสัตว์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง และกรมส่งเสริมสหกรณ์
โครงการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมในบริเวณโครงการชลประทานน้ำอูน
ดำเนินการระหว่าง พ.ศ. 2530-2534 เพื่อพัฒนาอาชีพของเกษตรกร ที่อยู่ในเขตจัดรูปที่ดินให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรกร ที่อยู่ในเขตจัดรูปที่ดินให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรแบบครบวงจร โดยดำเนินงานในลักษณะที่ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำ ดิน และแรงงานในพื้นที่ชลประทานน้ำอูน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยภาคเอกชนเป็นผู้นำ เกษตรกร เป็นผู้ปฏิบัติ และภาครัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบการผลิตและการตลาดร่วมกันในอนาคต โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ในประการที่เกี่ยวกับแผนพัฒนาระบบการผลิตการตลาด และการสร้างงาน
การจัดรูปที่ดิน
การจัดรูปที่ดินแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2528 มีพื้นที่จัดรูปที่ดินประเภทสมบูรณ์แบบ(Intensive) จำนวน 8,514 ไร่พื้นที่จัดรูปที่ดินประเภทกึ่งสมบูรณ์แบบ(Extensive)จำนวน 156,403 ไร่ ทั้งนี้เพื่อให้ระบบการชลประทานแบบแพร่กระจายน้ำในระดับไร่นาพื้นที่ส่งน้ำของโครงการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่มผู้ใช้น้ำ
เพื่อให้การส่งน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำ การแพร่กระจายน้ำในระดับไร่นาจึงมีความสำคัญมาก ดังนั้นโครงการจึงได้จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้น เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมในการส่งน้ำและช่วยกันดูแลบำรุงรักษาคูส่งน้ำรวมทั้งอาคารชลประทานต่างๆ ให้คงทนถาวร
การบริหารงาน
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน จังหวัดสกลนครตั้งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 4 อำเภอ คือ อำเภอพังโคน อำเภอพรรณานิคม อำเภอเมือง และอำเภอนิคมน้ำอูน จังหวัดสกลนคร โดย แบ่งการบริหารงานตามแผนภูมิข้างล่างนี้
แก้ไขล่าสุด (วันพุธที่ 20 มิถุนายน 2018 เวลา 08:49 น.)